messager
 
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด call ข้อมูลการติดต่อ

องค์การบริหารส่วนตำบล
ห้วยสามพาด
อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี

ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี
check_circle ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
เหตุที่ได้ชื่อ“ห้วยสามพาด”เพราะเมื่อสมัยหนองหานกุมภวาปีหล่มจมใต้บาดาลบริเวณหนองหานทุกวันนี้เดิมเป็นเมืองมุขน้อย มีพลเมืองมากมาย มีอาณาเขตกว้างขวางและใหญ่มาก เป็นเมืองที่เจริญกว่าเมืองต่างๆ ในสมัยนั้นเจ้าเมืองของมุขน้อยไม่ปรากฏชื่อ ตำนานไม่ได้กล่าวไว้บอกแต่ชื่อเมือง คือเมืองพญาขอมและมีธิดา 1 คน ชื่อนางไอ่ ซึ่งมีรูปโฉมงดงามมากที่สุดในสมัยนั้น รูปโฉมของนางไอ่นั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกเมืองทำให้เจ้าชายเมืองต่างๆ ต้องการนางไอ่มาเป็นคู่ครอง พอถึงเทศกาลเดือนหก เจ้าเมืองพญาขอมก็ประกาศให้เจ้าชายเมืองต่างๆ นำบั้งไฟมาแข่งขัน ถ้าบั้งไฟของใครชนะก็จะยกลูกสาวให้เป็นคู่ครอง แต่ปรากฏว่าไม่มีบั้งไฟของเจ้าชายเมืองใดสามารถชนะบั้งไฟของเมืองพญาขอมได้เจ้าชายทุกคนต่างก็พยายามทุกวิธีที่จะเอาชนะบั้งไฟเจ้าเมืองพญาขอมเพื่อจะได้นางไอ่มาเป็นคู่ครอง อยู่มาวันหนึ่งมีเมืองพญานาคซึ่งอยู่ใต้บาดาล และเมืองนี้มีบุตรชายชื่อพังคี ซึ่งพังคีก็ต้องการนางไอ่มาเป็นคู่ครองเช่นกัน ดังนั้น พังคีจึงขึ้นมาจากเมืองบาดาล และแปลงตัวเป็นมนุษย์ เพื่อมาดูรูปโฉมของนางไอ่แต่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับนางไอ่ ต่อมาจึงแปลงตัวเป็นกระรอกเผือก (หรือกระรอกด่อน)ที่คอแขวนกระดิ่งทองคำสวยงามน่ารักมาก ถ้าใครเห็นกระรอกตัวนี้ก็อยากจะได้มาเลี้ยง กระรอกตัวนี้ก็วิ่งไปวิ่งมากระโดดโลดเต้นไปจนถึงตำหนักของนางไอ่ เพื่อต้องการให้นางไอ่เห็นพอนางไอ่เห็นกระรอกก็พอใจและอยากได้มาเลี้ยงไว้ใกล้ๆ จึงสั่งให้ทหารจับกระรอกทหารพยามจับกระรอกแต่ก็จับไม่ได้จนหมดความสามารถ จนถึง 7 วัน 7 คืน ต่อมาทหารก็เลยสั่งจับตาย ปรากฏว่ากระรอกตัวเล็กๆ เนื้อของกระรอกชำแหละได้ถึง 8,000 เล่มเกวียน คนทั้งเมืองก็พากันเอาเนื้อกระรอกไปกินกันทั้งเมือง พญานาคพ่อของพังคีทราบข่าวว่าลูกชายถูกยิงตายก็โกรธมาก จึงแผงฤทธิ์อาละวาดให้เมืองนั้นถล่มจมใต้บาดาล ขณะนั้นท้าวผาแดงที่เป็นแฟนของนางไอ่ก็อยู่ในที่เกิดเหตุเช่นกันไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรประชาชนก็จมลงใต้บาดาลจนหมด เลยตัดสินใจเอานางไอ่ขึ้นหลังม้าซ้อนกันพยายามจะขี่ม้าวิ่งหนีและมุ่งหน้าไปทิศตะวันออก ขณะม้าวิ่งนั้นพญานาคก็มองเห็นและพยายามขัดขวางให้ล้มลงเหมือนกัน จึงแผงฤทธิ์ให้เส้นทางที่ท้าวผาแดง และนางไอ่ นั่งม้าไปล้มลงเหมือนกัน และขาม้าที่วิ่งไปนั้นก็จมลงไปม้าก็พยายาม วิ่งไปเรื่อยๆ จนเป็นคลองเป็นทางยาวตามที่ม้าวิ่งไปจนถึงเมืองท้าวผาแดง จนได้ชื่อนามไว้จนทุกวันนี้ 1. ม้าที่ผาแดงขี่พานางไอ่หนีชื่อว่าม้าบักสาม 2. ทางที่ม้าวิ่งหนีพญานาคไปด้วยความยากลำบาก ไถลล้มไปตามเส้นทาง จนทำให้เส้นทางเป็นลำห้วย เรียกว่า ห้วยสามพาด 3. ม้าวิ่งไปถึงเมืองผาแดง เรียกว่า ภูผาแดง จนทุกวันนี้ 4. ลำห้วยสามพาดนี้ ต้นของลำห้วยเริ่มจากภูผาแดง ไหลลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไหลลงมาจากภูผาแดงผ่านอำเภอหนองวัวซอ ส่วนหนึ่งผ่านอำเภอเมืองอุดรธานี ส่วนหนึ่งผ่านอำเภอหนองแสง ส่วนหนึ่งผ่านอำเภอกุมภวาปี ผ่านตำบลเสอเพลอ และตำบลผาสุก เข้าตำบลห้วยสามพาด ผ่านตำบลเชียงแหว ไหลลงหนองหานกุมภวาปีตำบลห้วยสามพาดเป็นตำบลหนึ่งใน 3 ตำบลของอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานีมีหมู่บ้านทั้งหมด 13 หมู่บ้านและได้รับยกฐานะจากสภาตำบลห้วยสามพาดเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาดเมื่อวันที่ 30 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2539

check_circle วิสัยทัศน์/พันธกิจ
วิสัยทัศน์ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด ได้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) เพื่อแสดงสถานการณ์ในอุดมคติ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายความคาดหวังที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ซึ่งจะสามารถสะท้อนถึงสภาพการณ์ของท้องถิ่นในอนาคตอย่างรอบด้านภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ คาดหวังที่จะให้เกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้ “ ห้วยสามพาด ตำบลน่าอยู่ ประชาชนมีสุข” พันธกิจการพัฒนา 1. ส่งเสริมการใช้ชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง 2. ส่งเสริมการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพของประชาชนเพื่อสร้างรายได้ลดปัญหาความยากจน 3 ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่างๆ 4. จัดบริการด้านสาธารณูปโภค – สาธารณูปการขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง 5. พัฒนาบุคลากรทางภาครัฐโดยเน้นหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ 6. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่นในระดับต่างๆ จุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนา 1. ประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 2. ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงขึ้น 3. ประชาชนได้รับการดูแลด้านคุณภาพชีวิตจากทางภาครัฐอย่างทั่วถึงเท่าเทียม 4. ประชาชนได้รับบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วถึง 5. องค์กรมีการบริหารจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล 6. ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาและแนวทางการพัฒนา จากวิสัยทัศน์ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด คณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด และตัวแทนตัวแทนชุมชนในเขตตำบลห้วยสามพาดได้ร่วมกันกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาและจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ดังนี้ ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ยุทธศาสตร์ ที่ 1 การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางที่ 1.1 การพัฒนาการก่อสร้าง ปรับปรุง บำรุงรักษา ถนน สะพาน ทางเท้า ท่อระบายน้ำ แนวทางที่ 1.2 การพัฒนาระบบประปา แนวทางที่ 1.3 การพัฒนาระบบไฟฟ้า แนวทางที่ 1.4 การพัฒนาระบบจราจร ยุทธศาสตร์ ที่ 2 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ แนวทางที่ 2.1 ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชน แนวทางที่ 2.2 ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ ที่ 3 การพัฒนาด้านส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิต แนวทางที่ 3.1 พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แนวทางที่ 3.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนวทางที่ 3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ยุทธศาสตร์ ที่ 4 การพัฒนาด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น แนวทางที่ 4.1 เพิ่มช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชน แนวทางที่ 4.2 ส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาและนันทนาการให้แก่เด็กนักเรียน แนวทางที่ 4.3 ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ยุทธศาสตร์ ที่ 5 การพัฒนาด้านการเมืองและการบริหารจัดการที่ดี แนวทางการพัฒนา แนวทางที่ 5.1 ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับการเมือง และการมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แนวทางที่ 5.2 พัฒนาปรับปรุงจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดถึงสถานที่ในการปฏิบัติงาน ยุทธศาสตร์ ที่ 6 การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนวทางที่ 6.1 สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนวทางที่ 6.2 การกำจัดขยะ

spa สภาพและข้อมูลพื้นฐาน
สภาพทั่วไป
ที่ตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด ยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 16 มกราคม 2539 มีที่ทำการตั้งอยู่ที่เลขที่ 231 หมู่ที่ 10 บ้านสะอาดนามูลอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี สามารถเดินทางจากจังหวัดอุดรธานีมาตามถนนมิตรภาพไปทางจังหวัดขอนแก่น ถึง กม.ที่ 21 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตำบลห้วยสามพาดระยะทาง 4 กิโลเมตร รวมระยะทางจากจังหวัดอุดรธานีถึงตำบลห้วยสามพาด ประมาณ 25 กิโลเมตรตั้งอยู่ห่างจากอำเภอประจักษ์ศิลปาคมไปทางทิศตะวันออก12กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตพื้นที่อยู่ติดกับท้องถิ่นใกล้เคียง 3ส่วนคือ ตำบลนาม่วง, ตำบลผาสุก,ตำบลหนองไผ่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่แบบลูกคลื่นค่อนข้างเรียบ มีลำห้วยน้ำเค็ม ห้วยสามพาด และห้วยเดือนห้าไหลผ่าน อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.หนองไผ่, หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.ผาสุก อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคาม จ.อุดรธานี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี จำนวนประชากร จำนวนประชากรในเขต อบต. 6,754 คน และจำนวนหลังคาเรือน 1,506 หลังคาเรือน เนื้อที่ ตำบลห้วยสามพาด มีพื้นที่ตำบลประมาณ 24,087 ไร่หรือ 39.293 ตารางกิโลเมตรโดยมีเนื้อที่แยกเป็นรายหมู่บ้าน ดังนี้

สภาพทางเศรษฐกิจ
ลักษณะทางเศรษฐกิจ อาชีพ จะเห็นได้ว่าการประกอบอาชีพของเกษตรกรในตำบลห้วยสามพาด 89.7% จะประกอบอาชีพทางการเกษตร ส่วนครัวเรือนจะประกอบอาชีพอย่างอื่น เช่น อาชีพรับจ้างอย่างเดียวมี 3.4% อาชีพอื่นที่ไม่ใช่อาชีพทางด้านเกษตรมี 6.8% ของครัวเรือนทั้งหมด ส่วนอาชีพทางด้านการเกษตรของประชากรในตำบล คือ การทำนามีมากที่สุด ด้านอื่นๆ มีการทำไร่ การเลี้ยงสัตว์มีน้อย ส่วนอาชีพค้าขายจะทำรายได้ให้กับประชากรดีพอ ด้านการเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่สัตว์เลี้ยงมีปริมาณไม่มากนัก เลี้ยงสัตว์ไว้สำหรับใช้งาน ไว้บริโภคและจำหน่ายในบางส่วน ได้แก่ โค กระบือ สุกร เป็ดและไก่ หน่วยธุรกิจในเขต อบต. ธนาคาร - แห่ง ปั้มน้ำมัน - แห่ง ร้านค้า 60 แห่ง ร้านซ่อมรถ 3 แห่ง ร้านรับซื้อของเก่า 4 แห่ง ร้านเกมส์ 6 แห่ง โรงสี 9 แห่ง โรงงานผลิตน้ำดื่ม 3 แห่ง

สภาพทางสังคม
การศึกษา ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด มีสถาบันการศึกษา ดังนี้ 1. โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 1 แห่ง คือ - โรงเรียนสามพาดพิทยาคาร 2. โรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา จำนวน 4 แห่ง คือ - โรงเรียนบ้านห้วยสามพาด หนองแกสหราษฎร์พัฒนา - โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์ - โรงเรียนบ้านสะอาดนามูล - โรงเรียนบ้านหนองแวงเหนือ-ป่าก้าว 3. ระดับก่อนวัยเรียน (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.จัดตั้งเอง) จำนวน 1 ศูนย์ คือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด ตั้งอยู่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด เลขที่ 231 ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัยจำนวน 11 คน จำนวนเด็กเล็ก 168 คน การสาธารณสุข ตำบลห้วยสามพาดมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 2 แห่ง คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสมบูรณ์ตั้งอยู่ที่บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 3 และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะอาดนามูล ตั้งอยู่ที่บ้านอนามัยไทยเจริญ หมู่ที่ 13 ผู้สูงอายุในเขตตำบลห้วยสามพาด จำนวน 869 คน พิการทุพพลภาพ จำนวน 206 คน ผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 7 คน สถาบันและองค์กรทางศาสนา วัด/สำนักสงฆ์ 9 แห่ง มัสยิด - แห่ง ศาลเจ้า - แห่ง โบสถ์ - แห่ง วัดประจำหมู่บ้าน จำนวน 9 แห่ง - วัดบ้านพิชัยพัฒนาราม ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 บ้านห้วยสามพาด - วัดอรุณธรรมรังษี ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านโนนสมบูรณ์ - วัดแสงสว่างธรรมราราม ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านอีทุย - วัดโนนสวรรค์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านโคกสง่า - วัดบ้านวังขอนกว้าง ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 บ้านวังขอนกว้าง - วัดจอมแจ้ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 บ้านหนองแก - วัดวิชัยโสภาราม ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านหนองแวงเหนือ - วัดจันทาราม ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 บ้านป่าก้าว - วัดศรีษะเกษ ตั้งอยู่ที่หมู่ 10 บ้านสะอาดนามูล สำนักปฏิบัติธรรม จำนวน 1 แห่ง - สำนักปฏิบัติธรรมบ้านสังคม ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 บ้านสังคม วัดป่า จำนวน 1 แห่ง - วัดป่าเจริญธรรม ตั้งอยู่ที่หมู่ 13 บ้านอนามัยไทยเจริญ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สถานีตำรวจชุมชนตำบลห้วยสามพาด 1 แห่ง (ตั้งอยู่บ้านห้วยสามพาด หมู่ 1) ศูนย์ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) มีสมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จำนวน 106 คน และ อาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย (OTOS) จำนวน 5 คน องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาดนำโดยนายก อบต.ประจักษ์ อุดชาชน มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในตำบลห้วยสามพาด ทั้ง ๑๓ หมู่ จึงมีนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนชาวตำบลห้วยสามพาด และได้มอบหมายให้งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้บริการประชาชน ในตำบลห้วยสามพาด ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุทางถนน และอื่นๆ ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในการให้บริการ ซึ่งสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดราชการ โดยสามารถแจ้งผ่านทางโทรศัพท์ หมายเลข 1669 ฟรีไม่มีค่าบริการ กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับสาธารณะภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม พายุ สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.ห้วยสามพาด ติดต่อเบอร์โทรศัพท์ 0-4214-4599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

การบริการพื้นฐาน
ด้านการบริการพื้นฐาน การคมนาคม สภาพทางการคมนาคมใช้การคมนาคมทางบกเป็นหลัก โดยมีทางรถไฟผ่านตำบล 1 สาย เส้นทางการคมนาคมภายในตำบลถนนลาดยาง ระยะทาง 12 กิโลเมตร ถนนคอนกรีตระยะทาง 3 กิโลเมตร ถนนลูกรัง ระยะทาง 18 กิโลเมตร และมีทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือผ่านสถานีรถไฟห้วยสามพาด จำนวน 1 แห่ง การโทรคมนาคม สถานีโทรคมนาคม (องค์การโทรศัพท์) - แห่ง สถานีขยายสัญญาณโทรคมนาคม - แห่ง ตู้โทรศัพท์ 12 ตู้ ทีทำการไปรษณีย์โทรเลข (ย่อย) 1 แห่ง (ตั้งอยู่หมู่ที่ 4) การไฟฟ้า เขตตำบลห้วยสามพาด เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทระบบการไฟฟ้าขยายทั่วถึงทั้งตำบล ประชากรมีไฟฟ้าใช้ครบทุกครัวเรือนทำให้ประชาชนมีสิ่งอำนวยความสะดวก คือมีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆเกือบครบทุกครัวเรือน โดยมีหน่วยงานสำนักงานไฟฟ้าภูมิภาค อำเภอประจักษ์ศิลปาคม รับผิดชอบในพื้นที่ ข้อมูลอื่น ๆ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ อบต. ทรัพยากรธรรมชาติในเขตตำบลห้วยสามพาดส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ซึ่งส่วนมากเป็นป่าสงวนในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ มวลชนจัดตั้ง ลูกเสือชาวบ้านเฉลิมพระเกียรติ 7 รุ่น การฝึกอบรมตามโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 3 รุ่น ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ตั้งอยู่ที่บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 12 ตำบลห้วยสามพาด

local_cafe สถานที่ท่องเที่ยว

× องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด